ดูเหมือนว่าปลายปี 2018 นี้ ประวัติศาสตร์ของสก็อตแลนด์ดูจะเป็นหัวข้อฮ็อตของคนทำหนังทีเดียว เพราะทางเน็ตฟลิกซ์เองเพิ่งจะปล่อย Outlaw King (2018, เดวิด แม็กเคนซีย์) ว่าด้วย โรเบิร์ต เดอะ บรูซ (คริส ไพน์) ชายผู้นำทัพสก็อตต์ต่อต้านการปกครองของอังกฤษ และ Mary Queen of Scots (2018, โจซี รูร์ค) แมร์รี สจวร์ต (เซอร์เชอ โรแนน) ราชินีฝรั่งเศสที่ดันตกพุ่มม่ายตั้งแต่วัยเพียง 18 ปีและเดินทางกลับสก็อตแลนด์ซึ่งเป็นบ้านเกิดเพื่อครองบัลลังก์ หากแต่ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นเพราะเวลานั้น สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่หนึ่ง (มาร์โกต์ ร็อบบี) ทรงปกครองทั้งสก็อตแลนด์และอังกฤษอยู่พอดี การเชือดเฉือนเพื่อสิทธิ์การปกครองจึงตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ และหนังเปิดตัวได้สวย ถูกใจนักวิจารณ์ทีเดียวเพราะมันกวาดคำวิจารณ์แง่บวก 100 เปอร์เซ็นต์เต็มจากเว็บมะเขือเน่ามาหมาดๆ
อันที่จริง ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของสก็อตแลนด์นั้นดูเป็นเรื่องราวที่ผู้คนในฮอลลีวูดสนใจไม่น้อยทีเดียว ย้อนกลับไปยังยุคสมัยที่สก็อตแลนด์ยังปกครองตัวเองภายใต้รัชสมัยของ กษัตริย์อเล็กซานเดอร์แห่งสก็อตแลนด์ ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุ เกิดช่องโหว่ทางการเมืองให้อังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นปกครองโดย พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หนึ่ง -ที่เพิ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการรวมแคว้นเวลส์เข้ามาอยู่ใต้การปกครอง- เข้ามามีอิทธิพลด้วยการให้พระโอรสหมั้นกับเจ้าหญิงแห่งสก็อตแลนด์ และทรงแทรกแซงทางการเมืองครั้งใหญ่จนแตกหักขุนนางชาวสก็อตต์จนกลายเป็นข้ออ้างให้พระองค์ยกทัพเข้าตีสก็อตแลนด์และปกครองอย่างโหดเหี้ยม ทั้งในแง่นโยบายที่ให้สิทธิขุนนางอังกฤษในการจับจองที่ดิน ไปจนถึงการล้างบางสังหารผู้ที่ขัดขืน จนชาวสก็อตต์ส่วนหนึ่งรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการปกครองอันหฤโหดนี้ นำมาสู่การลุกขึ้นสู้ของ วิลเลียม วอลเลซ ชายผู้ที่ในเวลาต่อมาถูกยกย่องว่าเป็นอัศวินของชาวสก็อตต์
ไม่แปลกที่เราจะคุ้นเคยกับชื่อนี้ เรื่องราวการต่อสู้ของวอลเลซนั้นได้รับการเล่าขานอย่างยิ่งใหญ่ในโลกภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะใน Braveheart (1995) ผลงานการกำกับหนังยาวลำดับที่สองของ เมล กิบสัน ตัวหนังประสบความสำเร็จล้นหลามทั้งในแง่คำวิจารณ์และรายได้ ด้วยทุนสร้าง 53 ล้านเหรียญฯ หนังทำเงินไปทั้งสิ้น 201 ล้านเหรียญฯ ทั้งยังคว้ารางวัลออสการ์กลับบ้านได้ 5 สาขา (เข้าชิง 10) โดยเฉพาะหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม ตัวเขาเองรับบทเป็นวอลเลซได้อย่างน่าจดจำ (กับฉากประกาศอิสรภาพอันแสนตราตรึงและชวนหลั่งน้ำตา) และหลังจากนั้น มันได้กลายเป็นหนึ่งในหนังที่พิสูจน์ฝีมือการแสดงและกำกับของกิบสัน ทั้งยังเป็นใบเบิกทางให้เขาได้กำกับหนังอีกหลายเรื่องทั้ง The Passion of the Christ (2004), Apocalypto (2006) และล่าสุด -ชิงออสการ์เช่นกัน- Hacksaw Ridge (2016)
แน่นอนว่าบทลงเอยของวอลเลซนั้นน่าเศร้า เขาถูกประหารชีวิตทั้งยังถูกเสียบประจานที่สะพานลอนดอน (ส่วนแขนขาและอวัยวะที่เหลือถูกนำไปเสียบประจานที่อื่นๆ) หากแต่ความตายของเขาไม่สูญเปล่า เมื่อมันคือจุดเริ่มต้นการลุกขึ้นสู้ในยุคสมัยของโรเบิร์ต เดอะ บรูซ แห่ง Outlaw King นั่นเอง
ในหนัง Outlaw King เองเราต่างรับรู้ถึงชะตากรรมของวอลเลซเมื่อภาพร่างฉีกขาดของเขาถูกตรึงไว้กับหลักไม้ ล้อมรอบโดยประชาชนชาวสก็อตต์ผู้โกรธเกรี้ยวต่อการกระทำอันเหี้ยมโหดของอังกฤษ ร่างของวอลเลซและพายุอารมณ์ของผู้คนนี้เองที่เป็นแรงหลักให้โรเบิร์ตตัดสินใจรวมกำลังผู้คนเพื่อปลดแอกจากอังกฤษ และอันที่จริง เรื่องราวของวอลเลซและโรเบิร์ตนั้นใช่จะแยกขาดจากกันเสียทีเดียว ในยุคสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หนึ่งเองก็เคยแต่งตั้งโรเบิร์ตให้ปกครองสก็อตแลนด์ในฐานะขุนนาง (หรือเอิร์ลแห่งคาร์ริค) และโรเบิร์ตนี่เองที่แต่งตั้งวอลเลซให้เป็นผู้พิทักษ์ (The Guardian of scothland) ภายหลังวอลเลซพิชิตชัยชนะที่ยุทธการสะพานสเตอร์ลิงได้เป็นหลักฐาน และกระทั่งเมื่อวอลเลซถูกประหารอย่างทารุณ โรเบิร์ต -ภายใต้ยุคสมัยของ กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่สอง– ก็ปฏิเสธจะยอมจำนนต่ออังกฤษและตัดสินใจลุกขึ้นสู้ในที่สุด
เรื่องราวการต่อสู้ของโรเบิร์ตนั้นหนักหนาไม่แพ้วอลเลซ หากแต่ความมั่นคงทางการเมืองของฝั่งอังกฤษเองก็เริ่มอ่อนกำลังลง เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หนึ่งสิ้นพระชนม์ และเจ้าชายแห่งเวลส์สถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่สอง ช่องว่างของการคานอำนาจ บวกรวมกันกับความอ่อนแอของเอ็ดเวิร์ดที่สองเอง ทำให้โรเบิร์ตคว้าชัยในการรบครั้งใหญ่ที่หุบเขาลูดูน (ในชื่อ Battle of Loudoun Hill) อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของโรเบิร์ตและการชิงอำนาจการปกครองของสก็อตแลนด์นั้น เคยถูกนำมาเล่าแล้วใน The Bruce (1996, บ็อบ คาร์รูเธอร์ กับ เดวิด แม็กวิธนีย์) โดยใช้นักแสดงจากเกาะอังกฤษยกแผง
แต่เรื่องราวการขับเคี่ยวกันระหว่างสก็อตแลนด์กับอังกฤษไม่ได้หมดเพียงยุคของโรเบิร์ตเท่านั้น เช่นเดียวกันกับในอีกหลายๆ ประเทศ ฝุ่นควันจากการปกครองยังคงตลบต่อมาอีกหลายยุคหลายสมัยแม้จะเปลี่ยนมือการปกครองแล้วหลายชั่วอายุคน ซึ่งเราจะเห็นได้จาก Mary Queen of Scots หนังฟอร์มยักษ์ที่เล่าถึงสองหญิงชิงบัลลังก์ในศตวรรษที่ 15 หนังสร้างจากหนังสือ Queen of Scots: The True Life of Mary Stuart โดย จอห์น กาย และกำกับโดยโจซี รูร์ค ซึ่งนี่นับเป็นหนังเรื่องแรกของเธอในฐานะผู้กำกับ และนำแสดงโดยโรแนน, ร็อบบี, กาย เพียร์ซ และ โจ อัลวิน (ผู้ซึ่งปีนี้รับแสดงในหนังพีเรียตอังกฤษสองเรื่องติด คือ Mary Queen of Scots และ The Favourite เรื่องหลังเป็นผลงานการกำกับของ ยอร์กอส ลันธิมอส)
ไม่แปลกหากว่ารูร์คจะสนใจเรื่องราวการช่วงชิงตำแหน่งของสองหญิงชาวสก็อตต์และอังกฤษอย่างแมร์รี สจวร์ตและอลิซาเบธที่หนึ่ง ลำพังแค่การปกครองของพระนางอลิซาเบธก็น่าสนใจมากพอจนฮอลลีวูดนำเอาเรื่องราวของพระองค์มาเล่าหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะ Elizabeth (1998, เชการ์ คาปูร์) และหนังสารคดี Elizabeth (2000, แม็กซ์ ฟีลเดอร์ กับ สตีเวน คลาร์ค) ส่วนเรื่องราวของพระนางแมรีนั้นเคยถูกเล่าไว้แล้วในหนังที่ชื่อเดียวกันทั้งสามยุคสมัยอย่าง Mary of Scotland (1936, จอห์น ฟอร์ด กับ เลสลี กูดวินส์), Mary, Queen of Scots (1971, ชาร์ลส์ จาร์ร็อตต์) และ Mary Queen of Scots (2013, โธมัส อิมแบ็ช)

อย่างที่เราหลายๆ คนทราบกันดีอยู่แล้วว่า อังกฤษในรัชสมัยการปกครองของอลิซาเบธนั้นแม้จะเป็นยุคทองก็จริง หากแต่มันก็ค้ำจุนได้ด้วยเรี่ยวแรงทางการเมืองและศาสนา สืบเนื่องมาจากการเป็นม่ายของแมร์รีที่ทำให้พระองค์ตัดสินใจเดินทางกลับสก็อตแลนด์ อลิซาเบธหวั่นกลัวว่านั่นอาจเป็นแผนการรุกเข้าประเทศของฝรั่งเศส ทั้งแมร์รียังมีสิทธิชิงบัลลังก์การปกครองของสก็อตแลนด์กลับไปได้ด้วย (อย่างไรก็ตาม ทั้งสองต่างเป็นเหลนของ พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ทั้งคู่) การมาเยือนสก็อตแลนด์ของแมรีทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อเหล่าคริสตศาสนิกชนคาทอลิกเชื่อว่าพระนางมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการปกครอง จนบัลลังก์ของอลิซาเบธต้องสั่นคลอน
เหล่านี้ล้วนนับเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอดขึ้นบนแผ่นฟิล์มในปี 2018 และน่าจับตาว่า บนถนนสายประวัติศาสตร์เหล่านี้จะยังมีเรื่องราวใดอีกบ้างที่รอให้ฮอลลีวูดหยิบมาตีความและถ่ายทอดอีกครั้ง